Title
ความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากและปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขตชนบท จังหวัดอุบลราชธานี
Title Alternative
Oral health literacy and associated factors of dental caries prevention behavior among junior high school student in rural areas Ubon Ratchathani province
Description
Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ช่องปาก ระดับพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุและศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขตชนบท จังหวัดอุบลราชธานี เก็บรวบรวมข้อมูลกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 402 คน สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน โดยใช้แบบสอบถามความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากที่มีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของคอนบราคระหว่าง 0.76 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนาโดยใช้สถิติพรรณนาและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงอนุมานโดยใช้สถิติการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 75.37 ความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 70.90 แยกเป็นทักษะ ได้แก่ ทักษะความรู้ ความเข้าใจข้อมูลอยู่ในระดับสูงร้อยละ 47.76 ทักษะการเข้าถึงข้อมูลอยู่ในระดับสูงร้อยละ 50.00 ทักษะการสื่อสารอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 41.79 ทักษะการจัดการตนเองอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 57.21 ทักษะการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 50.75 และทักษะการตัดสินใจอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 52.74 โดยตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม การป้องกันโรคฟันผุ ได้แก่ ทักษะความรู้ ความเข้าใจข้อมูล (B = -0.73, 95%CI = -0.90 - -0.57) การพักอาศัยกับพ่อแม่ (B = 3.53, 95%CI = 1.12-5.93) และรับบริการทันตกรรมที่โรงเรียน (B = 5.86, 95%CI = 1.44-10.28) ตัวแปรอิสระทั้งหมดสามารถอธิบายความผันแปรของคะแนนพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุได้ร้อยละ 20 และพบว่าตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อคะแนนพฤติกรรมป้องกันโรคฟันผุมากที่สุดเมื่อพิจารณาค่า Standardized Coefficients คือ ทักษะความรู้ ความเข้าใจข้อมูล โดยมีค่า B= -0.73, β = 0.40 รองลงมา คือ การพักอาศัยกับพ่อแม่ โดยมีค่า B = 3.53, β = 0.13
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมการเรียนรู้ โดยการให้ข้อมูลความรู้เรื่องโรคฟันผุกับผู้ปกครองที่ไม่ใช่พ่อแม่โดยตรง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมการป้องกันโรคฟันผุที่ดี และสนับสนุนให้มีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่โรงเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการป้องกันโรคฟันผุในกลุ่มวัยนี้ ลดปัญหาการเกิดโรคฟันผุในฟันแท้และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปรับบริการทางทันตกรรม
Publisher
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. สำนักวิทยบริการ