Abstract:
การศึกษาชนิดเหยื่อและการเลือกพื้นที่ล่าเหยื่อของเสือโคร่ง (Panthera tigris Linnaeus, 1758) ที่ใส่ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมจำนวน 5 ตัวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงเดือน พฤษภาคม 2556 ถึง มิถุนายน 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดเหยื่อ ลักษณะทางนิเวศและปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการล่าเหยื่อของเสือโคร่งโดยเก็บข้อมูลชนิดเหยื่อที่เสือโคร่งล่า 150 จุด สำรวจความชุกชุมเหยื่อและปัจจัยแวดล้อมในบริเวณที่พบการล่าเหยื่อ 87 จุด ในพื้นที่สุ่มเลือกภายใน พื้นที่อาศัยของเสือโคร่ง 87 จุด วางแปลงวงกลมรัศมี 10 เมตร สำหรับสำรวจความชุกชุมเหยื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จในการล่าเหยื่อของเสือโคร่งกับความชุกชุมเหยื่อด้วยการทดสอบแบบไคสแควร์ ทำการวางแปลงสำรวจปัจจัยแวดล้อมขนาด 30x30 เมตร เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของปัจจัยแวดล้อม โดยใช้ Generalized Linear Model เป็นแบบจำลอง จากการสำรวจจุดที่เสือโคร่งล่าเหยื่อ 150 จุด พบชนิดเหยื่อ 11 ชนิด คือช้างป่า (Elephas maximus) วัวแดง (Bos javanicus) กระทิง (Bos gaurus) กวางป่า (Rusa unicolor) หมูป่า (Sus scrofa) เก้ง (Muntiacus muntjak) เลียงผา (Capricornis sumatraensis) หมูหริ่ง (Arctonyx collaris) ลิ่นชวา (Manis javanica) ค่างแว่นถิ่นเหนือ (Semnopithecus phayrei) และเม่นใหญ่ (Hystrix brachyura) เหยื่อเป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 89 ของชนิดเหยื่อที่พบ ค่าเฉลี่ยความหนาแน่นรอยตีนและกองมูลของเหยื่อเสือโคร่งในพื้นที่ล่าเหยื่อ (77.86 ร่องรอย/เฮกแตร์ ) แตกต่างจากพื้นสุ่มเลือก (139.28 ร่องรอย/เฮกแตร์ ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= -4.04, d.f. = 129.79, p< 0.01) แสดงให้เห็นว่า เสือโคร่งไม่ได้เลือกพื้นที่ล่าเหยื่อในบริเวณที่มีความชุกชุมของเหยื่อสูง (χ2= 18.82, d.f. = 1, p< 0.01) และจากการใช้ Generalized Linear Model พบว่า ปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเลือกพื้นที่ล่าเหยื่อของเสือโคร่งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ ไม้พุ่ม และการปกคลุมเรือนยอดของไม้ต้น (p< 0.01) ส่วนจำนวนไม้ต้น พบว่า มีอิทธิพลต่อการเลือกพื้นที่ล่าเหยื่อของเสือโคร่งอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) สรุปได้ว่า ปัจจัยไม้พุ่มและการปกคลุมเรือนยอดของไม้ต้น มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการล่าเหยื่อของเสือโคร่งมากกว่า ปัจจัยในเรื่องของปริมาณเหยื่อ
Despite significant knowledge of tiger ecology, information on hunting behavior is limited. Prey species and kill site selection by 5 radio-collared tigers (Panthera tigris Linnaeus, 1758) were studied in Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary from May 2013 to June 2015 to determine relative prey abundance and the ecological factors influencing hunting success. Prey species consumed was determined from a larger sample of 150 kill sites in the study area, prey killed by tigers were identified by skeletal or hair samples remaining. At each of 87 kill sites and 87 random sites within the tigers home ranges, relative prey abundance was surveyed within a 10 m radius and 900 m2 square plot was used to sample geomorphic and ecological variables in each site. Chi-square test (χ 2 ) and linear regression, a generalized linear model (GLM) were used to investigate differences of prey abundance and geomorphic and ecological variables between kill sites and random sites within the study area. By 150 kill sites, 11 species were identified i.e. elephant (Elephas maximus)banteng(Bos javanicus)gaur (Bos gaurus) sambar deer (Rusa unicolor) wild pig (Sus scrofa) barking deer (Muntiacus muntjak) serow (Capricornis sumatraensis)hog badger (Arctonyx collaris) pangolin (Manis javanica) langur (Semnopithecus phayrei) and porcupine (Hystrix brachyura). On large ungulates, gaur sambar and banteng composed 89% of all prey. The mean relative prey abundance at kill sites was significantly less than relative prey abundance at random sites (77.86 and 139.28 tracks/ha, respectively) (t= -4.04, d.f. = 129.79, p< 0.01). The result indicated that tigers did not kill in areas of higher relative prey abundance (χ 2 = 18.82, d.f. = 1, p< 0.01). Instead, the ecological factors influenced kill site selection were shrub coverage (p< 0.01) canopy cover (p< 0.01) and tree density (p> 0.05). Therefore, habitat with sparser shrub and canopy cover were more important than prey abundance.